Tuesday, May 12, 2009

พระราชกรณียกิจครั้งสุดท้ายของรัชกาลที่ 8 ณ ทุ่งบางเขน 5 มิถุนายน พ.ศ. 24892






ลำดับเหตุการณ์

พระราชกรณียกิจครั้งสุดท้ายของรัชกาลที่ 8 ณ ทุ่งบางเขน 5 มิถุนายน พ.ศ. 24892 มิถุนายน 2489
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เริ่มมีพระอาการประชวรเกี่ยวกับพระนาภี (มีอาการปวดท้อง)
3 มิถุนายน 2489พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วย สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9 ในเวลาต่อมา) เสด็จเยี่ยมเยียนสำเพ็งด้วยการพระราชดำเนิน ท่ามกลางความปลาบปลื้มยินดีของพสกนิกร โดยเฉพาะชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ ณ ที่แห่งนั้น
5 มิถุนายน 2489
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงทอดพระเนตรการทำนาที่อำเภอบางเขน และกิจการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 ทรงหว่านข้าวในแปลงนาหลังตึกขาว ซึ่งปัจจุบันคือตึกพืชพรรณของกรมวิชาการเกษตร
8 มิถุนายน 2489
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมีพระอาการประชวรมากขึ้น เวลาเย็นวันนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระอนุชาธิราชปฏิบัติพระราชกิจแทนพระองค์ นายปรีดี พนมยงค์ได้รับเลือกจากรัฐสภาให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (ครั้งที่ 2)
9 มิถุนายน 2489 (วันเกิดเหตุ)

พระที่นั่งบรมพิมาน พระบรมมหาราชวัง (สถานที่เกิดเหตุ)

เส้นทางเคลื่อนไหวของบุคคลต่างๆ ในพระที่นั่งบรมพิมานชั้นบน ภายหลังเสียงปืนดังขึ้น เมื่อเช้าวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เวลาประมาณ 9.30 น. (ภาพจากหนังสือกรณีสวรรคต 9 มิถุนายน 2489)
เวลาประมาณ 5.00 น. สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงปลุกบรรทมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเพื่อถวายพระโอสถให้เสวย จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมต่อ

เวลาประมาณ 6.20 น. นายบุศย์ ปัทมศริน มหาดเล็กห้องพระบรรทมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเข้าเวรถวายงานที่พระที่นั่งบรมพิมานซึ่งเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้รินน้ำส้มคั้นที่ห้องเสวยเพื่อคอยทูลเกล้าฯ ถวาย

เวลาประมาณ 7.00 น. พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียรกับนายชิต สิงหเสนี ขึ้นมาที่พระที่นั่งบรมพิมานเพื่อวัดขนาดพระตรา จากนั้นทั้งสองออกจากพระที่นั่งเพื่อไปติดต่อช่างทำบพระตราที่ร้านงามพันธ์

เวลาประมาณ 8.00 น. นายบุศย์เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตื่นพระบรรทมจึงนำน้ำส้มคั้นไปถวาย แต่พระองค์โบกพระหัตถ์ไม่เสวย แล้วเสด็จขึ้นพระแท่นบรรทมตามเดิม นายบุศย์จึงกลับมาประจำหน้าที่ ที่หน้าห้องพระบรรทมตามเดิม

เวลาประมาณ 8 นาฬิกาเศษ สมเด็จพระอนุชาธิราช ตื่นพระบรรทม จากนั้น เวลาประมาณ 8.30 น. เสด็จไปเสวยพระกระยาหารเช้าที่หน้ามุขชั้นบนของพระที่นั่งบรมพิมานแต่เพียงพระองค์เดียว

เวลาเกือบ 9 นาฬิกา นายชิตได้ขึ้นมาที่ชั้นบนของพระที่นั่งบรมพิมานและนั่งอยู่หน้าห้องพระบรรทมด้วยกันกับนายบุศย์เพื่อรอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตื่นจากบรรทมเสียก่อน เพื่อขอพระบรมราชานุญาตเข้าไปเอาพระตราไปทำบ เนื่องจากทางร้านงามพันธ์ต้องการดูขนาดของพระตราองค์จริง

เวลา 9.05 น. สมเด็จพระอนุชาธิราชเสวยเสร็จแล้ว เสด็จมาที่หน้าห้องแต่งพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อถามพระอาการของพระเจ้าอยู่หัวกับนายชิตกับนายบุศย์ จากนั้นพระองค์ก็เสด็จไปที่ห้องเครื่องเล่น ซึ่งอยู่ติดกับห้องบรรทมของพระองค์ ในเวลาเดียวกันนั้น สมเด็จพระบรมราชชนนีประทับอยู่ที่ห้องบรรทมของพระองค์กับนางสาวจรูญ ตะละภัฏ ข้าหลวงในพระองค์ ส่วนพระพี่เลี้ยงเนื่อง จินตดุล กำลังเข้าไปเก็บพระที่ในห้องบรรทมของสมเด็จพระอนุชาธิราช

เวลาประมาณ 9.30 น. มีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด ภายในห้องพระบรรทมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นายชิตสะดุ้งอยู่มองหน้านายบุศย์และคิดหาที่มาของเสียงปืนอยู่ประมาณ 2 นาที จึงเข้าไปในห้องพระบรรทม พบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมหลับอยู่เป็นปกติ แต่ปรากฏว่ามีพระโลหิตไหลเปื้อนพระศอ (คอ) และพระอังสะ (ไหล่) ด้านซ้าย นายชิตจึงวิ่งไปที่ห้องบรรทมของสมเด็จพระบรมราชชนนีแล้วกราบทูลว่า “ในหลวงถูกยิง” สมเด็จพระบรมราชนนีตกพระทัย ทรงร้องขึ้นได้เพียงคำเดียวและรีบวิ่งไปที่ห้องพระบรรทมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทันที นายชิต, พระพี่เลี้ยงเนื่อง, สมเด็จพระอนุชาธิราช, และนางสาวจรูญได้วิ่งตามเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนนีไปติด ๆ (ดูแผนผังพระที่นั่งบรมพิมานประกอบ)

เมื่อไปถึงที่ห้องพระบรรทมนั้นปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตเสียแล้ว ในลักษณะของคนที่นอนหลับธรรมดา มีผ้าคลุมพระองค์ตั้งแต่ข้อพระบาทมาจนถึงพระอุระ ที่พระบรมศพมีบาดแผลกลางพระนลาฎ (หน้าผาก) บริเวณระหว่างพระขนง (คิ้ว) ข้างพระศพบริเวณข้อพระกรซ้ายมีปืนพก US Army ขนาดกระสุน 11 มม.วางอยู่ในลักษณะชิดข้อศอก ด้ามปืนหันออกจากตัว ปากกระบอกปืนชี้ไปที่ปลายพระแท่นบรรทม สมเด็จพระบรมราชชนนีได้โถมพระองค์เข้ากอดพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จนสมเด็จพระอนุชาธิราชต้องพยุงสมเด็จพระบรมราชชนนีไปประทับที่พระเก้าอี้ปลายแท่นพระบรรทม จากนั้นสมเด็จพระบรมราชชนนีจึงมีรับสั่งให้ตาม พ.ต.นายแพทย์หลวงนิตย์เวชวิศิษฐ์ แพทย์ประจำพระองค์มาตรวจพระอาการของในหลวง ส่วนพระพี่เลี้ยงเนื่องได้จับพระชีพจรของในหลวงที่ข้อพระหัตถ์ซ้าย พบว่าพระชีพจรเต้นอยู่เล็กน้อยแล้วหยุด พระวรกายยังอุ่นอยู่ จึงเอาผ้าคลุมพระองค์มาซับบริเวณปากแผล และปืนกระบอกที่คาดว่าเป็นเหตุทำให้ในหลวงสวรรคตไปให้นายบุศย์เก็บพระแสงปืนไว้ที่ลิ้นชักพระภูษา เหตุการณ์ช่วงเองนี้ได้ก่อปัญหาในการพิสูจน์หลักฐานในเวลาต่อมาเมื่อมีการจัดตั้ง “ศาลกลางเมือง” เพื่อสอบสวนเกี่ยวกับกรณีสวรรคต เนื่องจากไม่มีการกันที่เกิดเหตุไว้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาตรวจสอบอย่างเวลามีคดีฆาตกรรมต่างๆ เกิดขึ้นตามปกติ ทำให้หลักฐานต่างๆ ในคดีนี้ ล้วนถูกทำลายจากการเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนย้ายพระบรมศพและหลักฐานไปจากตำแหน่งเดิม
เวลาประมาณ 10.00 น. หลวงนิตย์เวชวิศิษฐ์ได้มาถึงสถานที่เกิดเหตุและตรวจพระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พบว่าสวรรคตแน่นอนแล้วจึงกราบทูลให้สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงทราบ สมเด็จพระบรมราชชนนีจึงรับสั่งให้ทำความสะอาดและตกแต่งพระบรมศพเพื่อเตรียมการถวายน้ำสรงพระบรมศพในช่วงเย็น
ในช่วงเวลาเดียวกัน พระยาเทวาธิราช (ม.ร.ว.เทวาธิราช ป. มาลากุล) สมุหพระราชพิธีได้เดินทางไปที่ทำเนียบท่าช้าง ที่พักของนายปรีดี พนมยงค์ เพื่อแจ้งข่าวการสวรรคต (ขณะนั้นนายปรีดีประชุมอยู่กับหลวงเชวงศักดิ์สงคราม (รมว.มหาดไทย) พล.ต.อ.พระรามอินทรา (อธิบดีกรมตำรวจ) และหลวงสัมฤทธิ์สุขุมวาท (ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล) ในเรื่องกรรมกรที่มักกะสันหยุดงานประท้วง)
ประมาณ 11.00 น. นายปรีดีมาถึงพระที่นั่งบรมพิมานและสั่งให้พระยาชาติเดชอุดมอัญเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่และเชิญคณะรัฐมนตรีมาประชุมเกี่ยวกับเรื่องการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ประชุมสรุปว่าให้ออกแถลงการณ์แจ้งให้ประชาชนทราบว่า การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเป็นอุบัติเหตุ แถลงการณ์ของกรมตำรวจที่ออกมาในวันนั้นก็มีเนื้อหาไนลักษณะเดียวกัน

เวลา 21.00 น. รัฐบาลเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการด่วนเพื่อแจ้งให้สภาทราบเรื่องการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และสรรหาผู้สืบราชสมบัติ ที่ประชุมได้ลงมติถวายราชสมบัติให้แก่สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นสืบราชสมบัติ เป็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ต่อไป จากนั้นนายปรีดีได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อแสดงความรับผิดชอบในกรณีสวรรคต
10 มิถุนายน 2489
เจ้าหน้าที่และแพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้เดินทางมาทำการฉีดยารักษาสภาพพระบรมศพ ระหว่างการทำความสะอาดพระบรมศพเพื่อเตรียมการฉีดยานั้น คณะแพทย์และเจ้าหน้าที่ได้พบบาดแผลที่พระปฤษฎางค์ (ท้ายทอย) ซึ่งเป็นบาดแผลที่ทะลุจากรูกระสุนปืนที่พระพักตร์บริเวณพระนลาฏ (หน้าผาก) ตรงระหว่างพระขนง (คิ้ว) ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ที่จริงแล้วในหลวงถูกลอบปลงพระชนม์ เนื่องจากบาดแผลที่พบใหม่ไม่ตรงกับคำแถลงการณ์ที่ออกมาในตอนแรก ทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยว่ารัฐบาลมีส่วนในการปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมตำรวจจึงออกแถลงการณ์เพิ่มเติมว่าได้ตั้งประเด็นการสวรรคตไว้ 3 ประเด็น คือ

มีผู้ลอบปลงพระชนม์
ทรงพระราชอัตนิวิบากกรรม (ปลงพระชนม์เอง) และ
อุปัทวเหตุ
11 มิถุนายน 2489
กรมตำรวจยังคงแถลงการณ์ยืนยันว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตด้วยอุบัติเหตุ แต่ประชาชนยังคงมีความคลางแคลงใจต่อรัฐบาลอยู่เช่นเดิม ในวันนี้ทางกรมตำรวจได้นำปืนของกลางที่พบในวันสวรรคตไปให้กรมวิทยาศาสตร์ตรวจสอบ
นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับเลือกจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ อีกครั้ง ผลกระทบ
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช สืบราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
นายปรีดี พนมยงค์ได้รับผลกระทบจากคดีนี้มากที่สุด เพราะถูกคนกล่าวหาว่า "ปรีดีฆ่าในหลวง" เนื่องจากชี้แจงสาเหตุการสวรรคตแก่ประชาชนได้ไม่ชัดเจนและคลี่คลายคดีนี้ไม่สำเร็จ และกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้นายปรีดีไม่เดินทางกลับมาประเทศไทยอีกเลยจนสิ้นชีวิต หลังจากการลี้ภัยทางการเมืองเพราะเหตุการณ์กบฏวังหลวง พ.ศ. 2492 อย่างไรก็ตาม ในขณะที่มีชีวิตอยู่ก็ได้ให้ลูกชาย (นายปาล พนมยงค์) และคนรู้จักที่อยู่เมืองไทยคอยช่วยต่อสู้คดีหมิ่นประมาทจากกรณีสวรรคตอยู่ตลอด เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ว่า ตนเองไม่ได้มีส่วนก่อคดีกรณีสวรรคตนี้แต่อย่างใด ซึ่งผลปรากฏว่าชนะทุกคดี
คดีนี้ได้กลายเป็นข้ออ้างสำคัญประการหนึ่งในการทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490 เนื่องจากรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (รับช่วงต่อจากนายปรีดี) ไม่สามารถสะสางกรณีสวรรคตได้ อนึ่ง กรณีสวรรคตยังส่งผลให้กลุ่มการเมืองฝ่ายนายปรีดีต้องพลอยหมดบทบาทจากเวทีการเมืองไทยภายหลังการรัฐประหารครั้งนี้ด้วยทฤษฎีและความเชื่อ
ทฤษฏีเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดในเหตุการณ์สวรรคต
ปัจจุบันหนังสือต่างๆ ที่เขียนเรื่องพระราชประวัติรัชกาลที่ 8 มักจะเขียนสาเหตุของการสวรรคตไว้แต่เพียงสั้นๆ ว่า "เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง" หลายฉบับก็ระบุสาเหตุเพิ่มเติมด้วยว่าเพราะพระแสงปืนลั่นระหว่างทรงทำความสะอาดพระแสงปืน (เข้าใจว่าเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการโต้เถียงกรณีสวรรคต)
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเหตุการณ์นี้เมื่อถึงที่สุดโดยคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้วก็ยังไม่มีความกระจ่างชัดเจน ทำให้เกิดความเชื่อเกี่ยวกับกรณีสวรรคตในเมืองไทย ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นสองเรื่องใหญ่ๆ โดยอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีการลอบปลงพระชนม์ คือ

ใครอยู่เบื้องหลังกรณีสวรรคต แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เชื่อว่านายปรีดี พนมยงค์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังกรณีสวรรคตและกลุ่มที่ไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น
จำเลยทั้งสามเป็นผู้บริสุทธิ์จริงหรือไม่ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เชื่อกับไม่เชื่อเช่นกัน เรื่องนี้มีที่มาจากการที่นายเฉลียว ปทุมรส 1 ใน 3 จำเลยของคดีดังกล่าวขอพบ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ก่อนการประหารชีวิต และเล่ากันว่านายเฉลียวได้บอกชื่อฆาตกรตัวจริงให้ พล.ต.อ.เผ่า รู้ด้วย มหาดเล็กทั้ง 3 นาย ตกเป็นจำเลยในคดีนี้ จนกระทั่งวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 เวลาห้านาฬิกา ก็ได้เวลาประหารจำเลย จึงสึ้นคดีนี้ รวมเวลาได้ 8 ปี 4 เดือน
ประเด็นกรณีสวรรคตยังเป็นเรื่องที่ชาวต่างประเทศที่สนใจเรื่องเมืองไทยอยากรู้เช่นกัน ดังจะเห็นได้จากมีงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษออกมา 2 เล่ม คือ
The Devil’s Discus: An Enquiry Into the Death of Ananda, King of Siam เขียนโดย เรนย์ ครูเกอร์ พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2507 ในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้เสนอประเด็นว่าเสด็จสวรรคตด้วยการปลงพระชนม์เอง (ถูกแปลเป็นภาษาไทย ใช้ชื่อ กงจักรปีศาจ)
The Revolutionary King: The True–Life Sequel to The King and I เขียนโดยวิลเลี่ยม สตีเฟนสัน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2543 เสนอว่าการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เป็นการลอบปลงพระชนม์ และระบุชื่อบุคคลที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการสวรรคตไว้ว่าเป็นสายลับญี่ปุ่น ชื่อ ซึจิ มาซาโนบุ (Tsuji Masanobu)
หนังสือทั้งสองเล่มข้างต้นถูกโจมตีจากชาวไทยที่ได้อ่านหนังสือดังกล่าวเป็นส่วนใหญ่ว่าบิดเบือนข้อเท็จจริงมาก และแม้ว่าจะมีการพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับกรณีสวรรคตออกมามากเท่าใดก็ตาม ก็ยังไม่สามารถคลี่คลายเรื่องนี้ให้กระจ่างได้ว่าใครเป็นคนก่อคดีและอยู่เบื้องหลังกรณีสวรรคตตราบจนทุกวันนี้
ความเชื่อที่เล่าต่อๆ กันมาในเหตุการณ์การสวรรคต
ในตอนเช้าวันสวรรคต ระหว่างการชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาที่หน้ากองทัพอากาศ ดอนเมือง ปรากฏว่า ผืนธงได้ถูกลมพัดร่วงหล่นลงพื้น และที่หน้ากระทรวงกลาโหม ธงก็ชักไปติดแค่ครึ่งเสา ชักต่อไม่ได้ ทั้งสองเหตุการณ์นี้เสมือนลางบอกเหตุร้าย