ผู้ที่ติดตามข่าวเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คงจะเห็นได้ว่ามีแนวความคิดที่จะแก้ไขกฎหมายสูงสุดของประเทศ ในหลากหลายประเด็น ตัวแทนของพรรคการเมืองบางพรรคเสนอให้ยุบศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ลดอำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ให้มีอำนาจให้ใบแดงหรือใบเหลือง และให้ลดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ให้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดี
ส่วนแนวทางการสร้างความสมานฉันท์ ผู้แทนพรรคการเมืองบางพรรคเสนอให้ฝ่ายตุลาการ หรือผู้พิพากษากลับคืนศาล และให้ทหารกลับคืนกรมกอง ไม่ทราบว่าทั้งสองประเด็นจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ก็เป็นแนวความคิดที่มีรากฐานเดียวกันกับการเสนอให้ลดอำนาจองค์กรอิสระ ศาลฎีกานักการเมือง และศาลรัฐธรรมนูญ นั่นก็คืออ้างว่าฝ่ายตุลาการไม่ได้มาจากประชาชน จึงไม่ควรมีอำนาจถอดถอนผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง
กล่าวโดยสรุป ข้อเสนอทั้งสอง ประเด็น คือการลดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ กกต.และการยุบศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง มีวัตถุประสงค์ที่ตรงกันคือ การล้มเลิกปรากฏการณ์ใหม่ในทางการเมือง ที่เรียกกันว่า "ตุลาการภิวัตน์" นั่นก็คือการให้ฝ่ายตุลาการมีบทบาทและอำนาจทางการเมืองมากขึ้น ด้วยการเป็นกรรมการสรรหาองค์กรอิสระต่างๆ และมีอำนาจวินิจฉัยให้นักการ-เมืองพ้นจากตำแหน่ง
ฝ่ายตุลาการเป็น 1 ใน 3 ของอำนาจในการปกครองประเทศ ทำหน้าที่ตรวจ สอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน อำนาจทั้งสามได้แก่อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ ในประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ อำนาจสามฝ่ายทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในประเทศไทย ฝ่ายที่คุมอำนาจนิติบัญญัติคือ เสียงข้างมากในสภา มักจะไม่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร
เหตุผลสำคัญที่ทำให้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจนิติบัญญัติไม่ตรวจสอบฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลอย่างจริงจัง หรือตรวจสอบแค่พอเป็นพิธี เนื่องจากทั้งสองฝ่ายเป็น "พวก" เดียวกัน เพราะเสียงข้างมากในสภาคือผู้จัดตั้งรัฐบาล และผู้ใช้อำนาจบริหารคือนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีส่วนใหญ่ ล้วนแต่เป็นระดับ "ผู้นำ" ในพรรค และเป็น "ลูกพี่" ของ ส.ส. ลูกน้องจึงไม่กล้าตรวจสอบลูกพี่
ยิ่งกว่านั้น ในอดีต แม้ฝ่ายตุลาการจะมีอำนาจในการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร แต่มักจะไม่มีคดีความเกี่ยวกับนักการเมือง ไปให้ศาลพิจารณาตัดสิน คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ 2540 เป็นต้นมา มองเห็นจุดบกพร่องนี้ จึงเขียนรัฐธรรมนูญให้ฝ่ายตุลาการมีบทบาทมากขึ้น ทั้งในศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระต่างๆ รวมทั้งให้มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ถ้าหากนักการเมืองเป็นนักประชาธิปไตยแท้ เคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่ซื้อเสียงและใช้อำนาจอิทธิพล เพื่อให้ชนะเลือกตั้งโดยทุกวิถีทาง ไม่ใช้ อำนาจการเมืองและอำนาจเงิน เข้าไปแทรกแซงองค์กรผู้ตรวจสอบ เพื่อเปิดทางให้ใช้อำนาจในทางที่ผิดได้โดยเสรี ก็อาจไม่จำเป็นที่จะต้องมี "ตุลาการภิวัตน์" ศาลก็จะเพียงแต่ทำหน้าที่ตรวจสอบ เมื่อมีคดีไปสู่ศาล.
ไทยรัฐออนไลน์โดย ทีมข่าวการเมือง
23 พฤษภาคม 2552, 05:00 น.