Saturday, May 23, 2009

"ใช้อำนาจถูกต้องหรือไม่ ?" ... บุญเลิศ ช้างใหญ่ ถามอภิสิทธิ์

วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11394 มติชนรายวัน


ใช้อำนาจถูกต้องหรือไม่

โดย บุญเลิศ ช้างใหญ่



ในประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพฯ และ 5 จังหวัดปริมณฑล ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีลงนามเมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. วันที่ 12 เมษายน 2552 โดยแถลงผ่านโทรทัศน์นั้น หลังจากกล่าวถึงสภาพการณ์ปัญหาความวุ่นวายอันเนื่องมาจากการชุมนุมของคนเสื้อแดงและการปฏิบัติการต่างๆ ในย่อหน้าก่อนสุดท้ายได้ระบุว่า "อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบด้วยมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 38 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 45 และมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นายกรัฐมนตรีจึงให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่..... .........ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป"

เมื่ออาศัยอำนาจตามมาตรา 5 และมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ร้ายแรงในกรุงเทพฯ และ 5 จังหวัดปริมณฑล จึงต้องไปดูว่า มาตรา 5 และมาตรา 11 บัญญัติไว้อย่างไร

มาตรา 5 เมื่อปรากฏว่ามีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นและนายกรัฐมนตรีเห็นสมควรใช้กำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารร่วมกันป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้ง ฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชน ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักร หรือในบางเขตบางท้องที่ได้ตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์ ในกรณีที่ไม่อาจขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีได้ทันท่วงที นายกรัฐมนตรีอาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปก่อน แล้วดำเนินการให้ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีภายในเวลาที่กำหนด หรือคณะรัฐมนตรีไม่ให้ความเห็นชอบ ให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวเป็นอันสิ้นสุดลง

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับตลอดระยะเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกินสามเดือนนับแต่วันประกาศ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลา ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศขยายระยะเวลาการใช้บังคับออกไปอีกเป็นคราวๆ คราวละไม่เกินสามเดือน

เมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลงแล้ว หรือเมื่อคณะรัฐมนตรีไม่ให้ความเห็นชอบ หรือเมื่อสิ้นสุดกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้นายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ส่วนมาตรา 11 เป็นการให้อำนาจนายกรัฐมนตรี 11 ประการ

เมื่อพิจารณาจากมาตรา 5 ประเด็นปัญหาอยู่ตรงที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินวันที่ 12 เมษายนที่กระทรวงมหาดไทยนั้น นายกรัฐมนตรีประกาศไปเองหรือผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

โดยข้อเท็จจริง นายกรัฐมนตรีได้ใช้กระทรวงมหาดไทยเป็นสถานที่ประชุมร่วมกับผู้นำทหาร มีรัฐมนตรีมาร่วม 6 คน จากทั้งหมด 35 คน ใครก็ตามที่อ้างว่า รัฐมนตรี 6 คนก็เป็นองค์ประชุมที่สามารถให้ความเห็นชอบได้แล้ว จะต้องมีกฎหมายหรือธรรมเนียมปฏิบัติมาอธิบายให้ชัดเจน หาไม่แล้วจะทำให้หลักการประชุมของคณะรัฐมนตรีและการให้ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเบี่ยงเบนไปตามอำเภอใจของนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นสิ่งไม่ถูกต้องและไม่อาจยอมรับได้ เพราะเท่ากับยอมรับให้คณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นองค์กรของคณะผู้บริหารประเทศเดินไปบนความสุ่มเสี่ยงเนื่องจากการตัดสินใจด้วยคนไม่กี่คน

เมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปก่อนเพราะไม่อาจขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีได้ทันท่วงที ในมาตรา 5 นั้นเองก็บัญญัติว่าจะต้องดำเนินการให้ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีภายใน 3 วัน (ครบกำหนดเวลาประมาณ 14.00 น. วันที่ 15 เมษายน) ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีจะมีการประชุมแต่ประการใด ดังนั้น การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจึงต้องสิ้นสุดลง นายกรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ที่นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งแต่งตั้งพร้อมกับให้มีอำนาจไว้จึงไม่มีอำนาจใดๆ นับแต่เวลา 14.00 น. วันที่ 15 เมษายนเป็นต้นไป การที่คณะรัฐมนตรีประชุมกันวันที่ 17 เมษายน ซึ่งเลยมาแล้วถึง 5 วันจึงค่อยมาให้การรับรองหรือเห็นชอบจึงไม่เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 5

ปัญหาอยู่ที่ว่า หลังจากผ่านเวลา 14.00 น. วันที่ 15 เมษายนไปแล้ว โดยคณะรัฐมนตรีไม่ได้ให้ความเห็นชอบกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่นายกรัฐมนตรีประกาศไปก่อน การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ทั้งหลายซึ่งขัดต่อ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 5 ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในหลายมาตราของรัฐธรรมนูญดังที่ได้อ้างไว้ในประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ใครต้องรับผิดชอบ และรับผิดชอบอย่างไร องค์กรใดจะเป็นผู้บังคับให้ต้องรับผิดชอบและวุฒิสภาจะดำเนินการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฐานกระทำในสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม บรรดานักกฎหมายในกระบวนการยุติธรรมและนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ควรจะนำเสนอความเห็นทางวิชาการต่อสาธารณะและดูการปฏิบัติของคณะรัฐมนตรีตั้งแต่สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อเนื่องมาถึงนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้กระทำไปอย่างไร เหมือนหรือแตกต่างจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ โดยถือเอามาตรา 5 เป็นตัวตั้ง

หนึ่งในผลกระทบที่ควรพิจารณาจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็คือ การตัดสัญญาณของสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม D STATION หรือสถานีประชาธิปไตยที่ข้อเท็จจริงจากคำให้สัมภาษณ์ของนายอภิสิทธิ์และนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีบอกว่าอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งนอกจากจะแตกต่างกับ ASTV ที่รัฐบาลนายสมัครต้องการจะตัดสัญญาณแต่ทำไม่ได้แล้วยังมีประเด็นที่ต้องถกเถียงกันอีกว่า การที่ D STATION เป็นโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม (ไม่ใช้คลื่นความถี่) ซึ่งเป็นสื่อสมัยใหม่ที่กฎหมายยังตามไม่ทัน การที่รัฐธรรมนูญมาตรา 45 คุ้มครองเสรีภาพสื่อมวลชนทุกแขนง ห้ามรัฐปิดหนังสือพิมพ์และปิดกิจการสื่อมวลชนอื่นๆ ในส่วนของการเซ็นเซอร์ข่าวของสื่อมวลชนกระทำได้แต่เฉพาะเวลาประเทศอยู่ในภาวะสงครามเท่านั้น

การที่ D STATION ออกอากาศไม่ได้และหน้าจอมีข้อความว่า "ขออภัยทางสถานีดาวเทียมไทยคมมีความจำเป็นต้องตัดสัญญาณ D STATION ตามคำสั่งของรัฐบาล ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ตั้งแต่เย็นวันที่ 12 เมษายนมาจนถึงบัดนี้จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องชี้แจงว่า การที่สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่องนี้ออกอากาศไม่ได้เป็นเพราะรัฐบาลไปสั่งปิด ไปตัดสัญญาณโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายใด อย่างไร และขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

นายอภิสิทธิ์ยืนยันตลอดเวลาว่า รัฐบาลใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมกับทุกคน ทุกฝ่าย แม้กระนั้นคนอีกฝ่าย โดยเฉพาะคนเสื้อแดงก็ยังตอบโต้ว่า ไม่จริง พร้อมกับยกตัวอย่างมาแสดงหลายกรณีที่มีลักษณะ "2 มาตรฐาน" ดังจะเห็นได้จากการอภิปรายของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยในที่ประชุมร่วมรัฐสภา 2 วัน 2 คืนเมื่อวันที่ 23-24 เมษายนจากเหตุประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ร้ายแรงในกรุงเทพฯ และ 5 จังหวัดปริมณฑลจึงเป็นอีกเงื่อนปมหนึ่งที่นักวิชาการด้านกฎหมายและองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่เป็นกลางและยึดถือเอาความเป็นธรรมอยู่เหนือสิ่งอื่นใด ไม่เป็นสื่อที่เลือกข้างจะได้พิจารณาว่า การใช้อำนาจของรัฐบาลดำเนินไปโดยชอบตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่

หน้า 7

URL : http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act02210552§ionid=0130&day=2009-05-21